




ปะการังฟอกขาว
ปะการังฟอกขาว
ความรู้ทั่วไป ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแลปะการังอาจตายไปในที่สุดถ้าหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ สาเหตุที่ทำให้ปะการังฟอกขาวเป็นพื้นที่กว้างครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำในระดับประเทศหรือครอบคลุมอาณาเขตกว้างในระดับภูมิภาคได้คือ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งในน่านน้ำไทย เคยได้รับผลกระทบเช่นนี้เมื่อปี พ.ศ.2534 2538 2541 2546 2548 และ 2550 โดยปี พ.ศ.2534 และ 2538 แนวปะการังทางฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายมาก พบว่าปะการังตายประมาณ 10-20% ส่วนในปี พ.ศ.2541 ก่อให้เกิดความเสียหายมากทางฝั่งอ่าวไทย แต่ปีต่อๆ มาเกิดทางฝั่งอันดามันแต่ไม่พบความเสียหายมากนัก เพราะปะการังสามารถฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมาเร็วในตอนต้นฤดูช่วยบรรเทาทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงได้
สำหรับในปี พ.ศ.2553 นับเป็นปีที่แนวปะการังเสียหายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียสได้เริ่มสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการังได้เริ่มฟอกขาวแผ่พื้นที่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย จากการสำรวจโดยหลายหน่วยงาน พบว่าในแต่ละพื้นที่มีปะการังฟอกขาวมากน้อยต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้นมีปะการังชนิดใดเป็นพวกที่ขึ้นครอบคลุมพื้นที่มาก (dominant group) หากพวกที่ขึ้นคลุมพื้นที่มากเป็นพวกที่ไวต่อการฟอกขาว พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก อย่างเช่น แนวปะการังที่มีปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ขึ้นเป็นดงกว้างใหญ่ พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าชายฝั่งที่แนวปะกรังขึ้นอยู่นั้นได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมมากน้อยเพียงไรด้วย ด้านที่รับแรงจากคลื่นลมจะเป็นด้านที่อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา (เช่น ด้านตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน) ปะการังจึงฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่น เมื่อประมาณโดยภาพรวมทั่วประเทศแล้ว พบว่าปะการังแต่ละแห่งฟอกขาวมากถึง 30-95% ปะการังทุกชนิดฟอกขาวเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง 3-4 ชนิดเท่านั้นที่ยังคงต้านอยู่ได้ เช่น ปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) และปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora)
สาเหตุ ปะการังจะฟอกขาว ส่วนใหญ่เกิดจาก 1. อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ และ 2. ความเค็มลดลงเนื่องจากอิทธิพลของน้ำจืดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว
กราฟแสดงอุณหภูมิน้ำทะเลในแนวปะการังบริเวณเกาะภูเก็ต ตั้งแต่มกราคม พ.ศ.2552 – กันยายน พ.ศ.2553
Ref : http://classconnection.s3.amazonaws.com/ และ http://oceana.org/sites/default/files/explore/creatures/ocean235chadan_002.jpg
จากกราฟแสดงอุณหภูมิน้ำทะเลในแนวปะการังบริเวณเกาะภูเก็ตตั้งแต่ มกราคม พ.ศ.2552 – กันยายน พ.ศ.2553 พบว่าข้อมูลในกรอบเป็นช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลขึ้นสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ประมาณไว้ว่า ณ อุณหภูมิตั้งแต่ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นจุดวิกฤตที่กระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบอื่นด้วยที่เป็นตัวกระตุ้นร่วม โดยเฉพาะความเข้มของแสงแดด
แนวปะการังในอ่าวทางทิศเหนือของเกาะราชาใหญ่ มีปะการังเขากวาง (Acropora austera) ขึ้นอยู่เป็นดงกว้างใหญ่
เริ่มฟอกขาวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 (ซ้าย) หลังจากนั้นในเดือนกันยายน เมื่อตรวจสอบอีกครั้ง
พบว่าปะการังเขากวางตายไปทั้งหมด (ขวา)
แนวปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ที่อ่าวฝั่งตะวันตกของเกาะราชาใหญ่ (ซ้าย)
อ่าวทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะปายู (ขวา) ยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว
การที่ปะการังอยู่ในสภาวะฟอกขาวต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้ปะการังค่อยๆ ตายไป โดยเฉพาะปะการังในสกุล Acroporaspp. เป็นพวกที่เริ่มตายก่อนชนิดอื่นๆ หลังจากที่ฟอกขาวได้ 1 เดือน ปะการังชนิดอื่นค่อยๆ ทยอยตายตามไป ต่อมาในตอนปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2553 อุณหภูมิเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 29 องศาเซลเซียสเศษ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ ปะการังโขด (Porites lutea) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของแนวปะการัง เป็นพวกแรกที่เริ่มมีสีน้ำตาลกลับคืนมา แสดงให้เห็นการฟื้นตัวที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ประมาณได้ว่าปะการังโขดที่ฟอกขาวสามารถฟื้นตัวได้ราว 50-75% (นั่นคือ ประมาณหนึ่งในสี่ถึงครึ่งหนึ่งได้ตายไป)
แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 มีความสมบูรณ์มาก แต่หลังจากเกิดการฟอกขาว ได้ดำเนินการตรวจสอบซ้ำในเดือนธันวาคม พ.ศ.2553 พบว่าแนวปะการังกลับอยู่ในสภาพเสียหายมาก ในขณะที่กลุ่มปะการังเขากวางและปะการังโต๊ะ (Acropora spp.) ในแนวปะการังบริเวณเกาะสิมิลัน ตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ปะการังโขด (Porites lutea) เริ่มกลับมามีสีน้ำตาล เมื่ออุณหภูมิน้ำลดลงสู่ปกติในปลายเดือนมิถุนายน (ซ้าย)
และจากการประเมินในหลายพื้นที่ พบว่าปะการังโขด (P. lutea) ตายจากการฟอกขาว 25-50% (ขวา)
แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 มีความสมบูรณ์มาก (ซ้าย)
หลังจากเกิดการฟอกขาวทำให้แนวปะการังกลับอยู่ในสภาพเสียหายมาก (ขวา)
แนวปะการังตามเวิ้งอ่าวทางฝั่งตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำ (internal waves) เป็นครั้งคราว ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลไม่สูงตลอดเวลา ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวจึงไม่รุนแรงมาก ทำให้มีปะการังมีชีลิตรอดอยู่ได้มากกว่าชายฝั่งด้านอื่นของเกาะ และจากการสำรวจในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายพื้นที่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะที่หมู่เกาะพีพี (จังหวัดกระบี่) เกาะ-ราชา (จังหวัดภูเก็ต) เกาะไข่นอก และหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน (จังหวัดพังงา) พบว่าในแนวปะการังแต่ละแห่งได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวและเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก
แนวปะการังตามเวิ้งอ่าวทางฝั่งตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน
ได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำ (internal waves) ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวจึงไม่รุนแรงมาก
นักวิจัยสำรวจปะการังวัยอ่อน (juvenile coral) ที่เริ่มเจริญเติบโตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
จากปะการังฟอกขาว เป็นปะการังสกุล Acropora (ปะการังเขากวาง) และ Favia (ปะการังวงแหวน)
ในการติดตามศึกษาหลังการฟอกขาวครั้งนี้ ได้ติดตามตรวจสอบการอุบัติของโรค (coral disease) ด้วย พบว่าโรคด่างขาว (white band disease) มักเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังที่เกิดโรคด่างขาวจะค่อยๆ ตายไป และยังพบโรคจุดขาว (white spot) มากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ฟอก-ขาวผ่านไป โดยโรคนี้มักพบในปะการังโขด (Porites lutea) จะมีการติดตามตรวจสอบต่อไปว่าโรคนี้ทำให้ปะการังตายหรือไม่และระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้น
ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) เกิดโรคแถบขาว (ซ้าย) และปะการังโขด (P. lutea) เกิดโรคจุดขาว (ขวา)
ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
1. ปะการังเกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
2. ปะการังฟอกขาวทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ส่งผลให้กระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศแนวปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างประชาคมปลาในแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังชนิดอื่นๆ
3. เพิ่มอัตราการกร่อนทางชีวภาพ (bioerosion) และทำลายโครงสร้างของแนวปะการัง
4. สังคมสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อาจเจริญเติบโตแทนที่แนวปะการังเดิม
การบริหารจัดการ
1. สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง เพื่อให้ทราบสถานการณ์ของแนวปะการังฟอกขาว ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. ลดผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ด้วยการกำหนดพื้นที่ รูปแบบกิจกรรม และข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานฯ สามารถนำรูปแบบวิธีการดำเนินงานของโครงการกรีนฟินส์ไปใช้
3. ผลักดันให้เรือท่องเที่ยวปรับปรุงเรือ โดยให้มีถังกักเก็บของเสียในเรือ มิให้มีการปล่อยของเสียลงในแนวปะการังโดยตรง เพื่อลดปัญหาการแพร่ของเชื้อโรคหรือปริมาณสารอาหารในแนวปะการัง
4. มีการจัดการอย่างเข้มงวดเพื่อลดปริมาณตะกอนจากแผ่นดินลงสู่ทะเล เช่น ควบคุมการเปิดหน้าดิน และกำหนดมาตรการป้องกันการกัดเซาะหน้าดินบนเกาะที่มีแนวปะการัง
5. กำหนดมาตรการป้องกันกิจกรรมประมงที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง โดยเฉพาะการลักลอบจับปลาสวยงาม และปลากินพืชในแนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยต้องมีการตรวจตราป้องกันการกระทำผิดอย่างเข้มงวด
6. ปิดพื้นที่ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่แนวปะการังที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด เช่น บางบริเวณในเขตอุทยานแห่งชาติ
7. นำแผนแม่บทการจัดการอุทยานแห่งชาติ ที่เคยมีการทำไว้แล้วมาใช้อย่างจริงจัง
8. จัดสร้างแหล่งดำน้ำใหม่ หรือปะการังเทียมเสริมในบริเวณที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้ประโยชน์ในแนวปะการัง









